จำนวนผู้เข้าชม

วันอังคารที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2555

การเลี้ยงไก่ไข่

การเลี้ยงไก่ไข่ในระบบ EVAP
 ลี้ยงไก่ไข่ด้วยอีเวป ทำไบโอแก๊สลดค่าใช้จ่าย แม้ว่าการเลี้ยงไก่ไข่ที่ทำอยู่ขณะนี้ จะดูเสมือนเลี้ยงให้คนอื่น ไก่ที่กำลังเลี้ยงอย่างเอาใจใส่อยู่ขณะนี้พอวันหนึ่งมันไข่ออกมา ไข่นั้นมิใช่ไข่ของมัน มิใช่ไข่ของเรา แต่เป็นไข่ของบริษัทที่เรารับจ้างเขาเลี้ยง พอถึงวันนั้นก็ต้องดีใจเพราะมั่นใจได้ว่า ไม่ขาดทุนอย่างแน่นอนเพราะมีการประกันราคาไข่ไก่ไว้ ซึ่งนอกจากไข่แล้ว ทางบริษัทเขายังรับซื้อแม่ไก่ที่ปลดระวางด้วย
ที่อยากบอกเล่าในวันนี้ที่สำคัญคือเรื่อง การทำไบโอแก๊ส… การเลี้ยงไก่ (และ/หรือสัตว์ชนิดอื่น ๆ) นอกจากจะขายไข่ได้แล้ว ยังได้ประโยชน์มากกว่านั้นอีกคือ การนำเอาแก๊สที่จะต้องสูญเปล่าหากปล่อยทิ้งไป มาทำให้เกิดประโยชน์โภชผลมากกว่านั้น คือ การทำไบโอแก๊ส (Bio Gas) หากไม่ทำไบโอแก๊สแล้ว ก็จะเกิดมลพิษ ณ บริเวณนั้นและรอบ ๆ แต่หากทำ นอกจากจะไม่ก่อให้เกิดมลพิษแล้วยังก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งแก่เจ้าของ ฟาร์ม
อย่าง คุณเจียดฉพร บุญรักศรพิทักษ์ เจ้าของธนโชติฟาร์ม อยู่บ้านเลขที่ 99 หมู่ 5 ต.ท่างาม อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี ที่เริ่มต้นเลี้ยงไก่เมื่อปี 2550 ที่ผ่านมากับโครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงไก่ไข่แก่เกษตรกรรายย่อยของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ซึ่งคุณเจียดฉพรมีโรงเรือนเลี้ยงไก่ 1 โรง มีไก่ 36,000 ตัว โรงเรือนเป็นระบบปิดปรับอากาศด้วยการระเหยของน้ำ หรือ Evaporative cooling system (EVAP) คุณเจียดฉพรทำไบโอแก๊สแบบ Plug Flow แล้ว สามารถลดค่าให้จ่ายได้มาก เช่น ค่าไฟฟ้าก่อนที่จะทำไบโอแก๊สนั้นสูงมาก แต่หลังจากที่ทำระบบนี้แล้วค่าไฟฟ้าลดลง

  

คุณเจียดฉพร เล่าให้ฟังว่า เงินลงทุนทำ ไบโอแก๊สนั้นมีทั้งเงินส่วนตัวและเงินสนับสนุนจากทางราชการ บ่อนี้ลงทุนไม่รวมเครื่องปั่นไฟประมาณ 1.2 ล้านบาท มีขนาด 700 คิว ม.เชียงใหม่ช่วยประมาณ 900 บาทต่อคิว ไก่รุ่นที่ผ่านมามีรายได้จากการขายมูลไก่ที่ชักกากตากแห้งได้กิโลกรัมละ 3 บาท คิดเป็นตันละ 3,000 บาท ถ้าคิดเป็นเดือนจะมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 6,000 บาท ในส่วนมูลไก่สดที่ไม่ได้ลงบ่อจะขายได้ประมาณ 6,000 บาท เฉลี่ยแล้ว มูลไก่ทั้งหมดจะได้เป็นเงิน 12,000 บาท
เมื่อทำไบโอแก๊สแล้ว จากเดิมเสียค่าไฟฟ้า 45,000 บาทต่อเดือน แต่ปัจจุบันเหลือ ประมาณ 18,000 บาท …เห็นได้ว่าจ่ายถูกลงกว่าเดิมถึง 60%
สำหรับเหตุผลที่ตัดสินใจทำไบโอแก๊สประการแรกคือเรื่องของการตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการเลี้ยงไก่ย่อมต้องมีกลิ่นจากมูลไก่ซึ่ง อาจรบกวนชุมชนโดยรอบได้ ประกอบกับได้เงินลงทุนจึงหันมาใช้ไบโอแก๊ส โดยทาง ม.เชียงใหม่ มีวิศวกรมาดูแลถึงความเหมาะสมในการใช้ไบโอแก๊สให้เหมาะกับขนาดของฟาร์ม ซึ่งทาง ม.เชียงใหม่ มีงบประมาณให้เฉพาะแค่ 700 คิวเท่านั้น ถ้าเกษตรกรต้องการเพิ่มขนาดโรงเรือนให้ใหญ่กว่านี้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเอง ซึ่งในอนาคตที่นี่อาจเพิ่มขนาดบ่อให้เหมาะสมตามจำนวนไก่ด้วย
ระบบการจัดการเรื่องของมูลไก่ มีระบบการเก็บโดยใช้สายพานและมีท่อลำเลียงเพื่อปล่อยลงไปยังบ่อหมัก โดยมูลไก่สดจะมีเกษตรกรมารับซื้อ ที่เหลือประมาณ 4 ตันจะลงบ่อทำไบโอแก๊สโดยมูลไก่ที่ได้และกากที่เหลือจากบ่อหมักจะได้ประมาณ 2 ตัน ซึ่งกากที่หายไปจะถูกย่อยเป็นน้ำ น้ำที่ได้จะไม่มีกลิ่นและไม่มีความเค็มจะมีค่า NPK ที่สูงสามารถนำมารดน้ำต้นไม้และนำมาทำการเกษตรได้ สำหรับมูลไก่ที่ชักกากขึ้นมานั้นเป็นปุ๋ยที่ดี ไม่มีกลิ่น แต่มีประโยชน์สำหรับต้นไม้ สามารถจำหน่ายได้เช่นกัน เห็นได้ชัดเจนว่าการเลี้ยงไก่ด้วยระบบที่มีคุณภาพ ผลผลิตที่ได้ย่อมมีคุณภาพ และหากในฟาร์มมีการทำไบโอแก๊สด้วยแล้วก็จะไร้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ชาวบ้านที่อยู่รายรอบฟาร์มก็จะเป็นมิตรที่ดีต่อฟาร์มเพราะเป็นฟาร์มที่ปลอด กลิ่น ปลอดแมลงวัน ที่สำคัญยังเป็นการลดต้นทุนอีกด้วย.

  

การป้องกันเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

ประเด็นข่าว
         จากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐออนไลน์ วันศุกร์ที่ 1 เมษายน 2554 คอลัมน์การเกษตร จากอธิบดีกรมการข้าวเปิดเผยว่าเพลี้ยกระโดสีน้ำตาล ระบาดหนักในหลาย
จังหวัดทางภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง เริ่มมีการระบาดของฝูงเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลอีกทั้งยังพบว่าพื้นที่ปลูกข้าวบางแห่งเพื่อเป็นการควบคุมไม่ให้การระบาดของเพลี้ยดังกล่าวขยายวงกว้าง  รุนแรงเหมือนในรอบปีที่ผ่านมา  กรมการข้าวขอแนะนำว่า  หากระยะข้าวแตกกอ  อายุไม่เกิน 40 วัน  หากพบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล  ที่ส่วนใหญ่เป็นชนิดปีกยาว  ให้งดใช้สารเคมีใดๆ  หรือถ้าพบตัวอ่อนแมลงควรใช้สารตามคำแนะนำของกรมการข้าว กรณีที่พบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในแปลงนาในระยะข้าวแตกกอเต็มที่ถึงระยะออกรวงมากกว่า 10 ตัว/ต้น  ควรเร่งระบายน้ำออกจากแปลงให้อยู่ในสภาพดินเปียก
เนื้อหาสาระ หลักสูตรแกนกลางขั้นพื้นฐาน สำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี  สาระที่ 1 การดำรงชีวิตและครอบครัว เรื่อง การปลูกพืช ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6
เพลี้กระโดดสีนน้ำตาล (brown planthopper, BPH )
ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า
 Nilaparvata lugens (Stal)
วงค์ Delphacidae
อันดับ Homoptera
             เป็นแมลงศัตรูพืช ชนิดปากดูด โดยมักทำลาย ข้าว โดยดูดน้ำเลี้ยงข้าวจนทำให้ข้าวแห้งตาย และเป็นพาหะนำเชื้อไวรัสโรคใบหงิกลักษณะเป็นแมลงขนาดเล็ก 2-3 มิลลิเมตรสีน้ำตาล มีรูปร่าง 2 ลักษณะ คือ ชนิดปีกยาว (macropterous form) และชนิดปีกสั้น ตัวเต็มวัยมีลำตัวสีน้ำตาลถึงสีน้ำตาลปนดำ มีรูปร่าง 2 ลักษณะ คือ ชนิดปีกยาว (macropterous form) และชนิดปีกสั้น (bracrypterous form) ชนิดมีปีกยาวสามารถเคลื่อนย้ายและอพยพไปในระยะทางใกล้และไกล โดยอาศัยกระแสลมช่วย ตัวเต็มวัยเพศเมียจะวางไข่เป็นกลุ่ม ส่วนใหญ่วางไข่ที่กาบใบข้าว หรือเส้นกลางใบ โดยวางไข่เป็นกลุ่ม เรียงแถวตามแนวตั้งฉากกับกาบใบข้าว บริเวณที่วางไข่จะมีรอยช้ำเป็นสีน้ำตาล ไข่มีลักษณะรูปกระสวยโค้งคล้ายกล้วยหอม มีสีขาวขุ่น ตัวอ่อนมี 5 ระยะ ระยะตัวอ่อน 16-17 วัน ตัวเต็มวัยเพศเมียชนิดปีกยาวมีขนาด 4-4.5 มิลลิเมตร วางไข่ประมาณ 100 ฟอง เพศผู้มีขนาด 3.5-4 มิลลิเมตร เพศเมียชนิดปีกสั้นวางไข่ประมาณ 300 ฟอง ตัวเต็มวัยมีชีวิตประมาณ 2 สัปดาห์ ในหนึ่งฤดูปลูกข้าวเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลสามารถเพิ่มปริมาณได้ 2-3 อายุขัย (generation)
ลักษณะการทำลาย
        เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยทำลายข้าวโดยการดูดกินน้ำเลี้ยงจากเซลส์ท่อน้ำท่ออาหารบริเวณโคนต้นข้าวระดับเหนือผิวน้ำ ทำให้ต้นข้าวมีอาการใบเหลืองแห้งลักษณะคล้ายถูกน้ำร้อนลวก แห้งตายเป็นหย่อมๆเรียก “ อาการไหม้ ( hopperburn )” โดยทั่วไปพบอาการไหม้ในระยะข้าวแตกกอถึงระยะออกรวง ซึ่งตรงกับช่วงอายุขัยที่ 2-3 ( generation ) ของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในนาข้าว นาข้าวที่ขาดน้ำตัวอ่อนจะลงมาอยู่ที่บริเวณโคนกอข้าวหรือบนพื้นดินที่แฉะมีความชื้น นอกจากนี้เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ยังเป็นพาหะนำเชื้อไวรัสโรคใบหงิก ( rice ragged stunt ) มาสู่ต้นข้าวทำให้ต้นข้าวมีอาการแคระแกร็น ต้นเตี้ย ใบสีเขียว แคบและสั้น ใบแก่ช้ากว่าปรกติ ปลายใบบิด เป็นเกลียว และ ขอบใบแหว่งวิ่น
ปัจจัยที่มีผลต่อการระบาด
        วิธีการปลูกข้าว การปลูกข้าวแบบนาหว่านน้ำตมมีปัญหาการระบาดมากกว่านาดำเพราะนาหว่านมีจำนวนต้นข้าวหนาแน่น ทำให้อุณหภูมิและความชื้นในแปลงนาเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ประกอบกับนาหว่านเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลสามารถทำลายข้าวได้อย่างต่อเนื่อง
        การใช้ปุ๋ย การใช้ปุ๋ยอัตราสูง โดยเฉพาะปุ๋ยไนโตรเจน ทำให้การเพิ่มจำนวนเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในนาข้าวมีแนวโน้มมากขึ้น เนื่องจากปุ๋ยไนโตรเจน ทำให้ใบข้าวเขียว หนาแน่น ต้นข้าวมีสภาพอวบน้ำเหมาะแก่การเข้าดูดกินและขยายพันธุ์ของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
        การควบคุมน้ำในนาข้าว สภาพนาข้าวที่มีน้ำขังในนาตลอดเวลา ทำให้เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลสามารถเพิ่มจำนวนได้มากกว่าสภาพที่มีการระบายน้ำในนาออกเป็นครั้งคราว เพราะมีความชื้นเหมาะแก่การเจริญเติบโตของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
        การใช้สารฆ่าแมลง การใช้สารฆ่าแมลงในระยะที่เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเป็นตัวเต็มวัยชนิดปีกยาวหรือช่วงที่อพยพเข้าในนาข้าวใหม่ๆ ( ข้าวระยะ 30 วันหลังหว่าน ) ศัตรูธรรมชาติจะถูกทำลายและสารฆ่าแมลงก็ไม่สามารถทำลายไข่ของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้ ทำให้ตัวอ่อนที่ฟักออกจากไข่มีโอกาสรอดชีวิตสูง
ศัตรูธรรมชาติที่มีบทบาทในการควบคุมประชากรเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้แก่
        มวนเขียวดูดไข่ Cyrtorhinus lividipennis (Reuter) เป็นตัวห้ำในอันดับ Hemiptera วงค์ Miridae เป็นตัวห้ำที่สำคัญทำลายไข่เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โดยการดูดกินของเหลวภายในไข่ มักพบแพร่กระจายในภาคกลางเป็นส่วนใหญ่และอพยพเข้ามาพร้อมกับเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ซึ่งถ้าพบมวนชนิดนี้ในนามากกว่าเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล 2-3 เท่า มวนชนิดนี้สามารถควบคุมการเพิ่มปริมาณของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลโดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผลผลิตข้าวได้
        แมงมุมสุนัขป่า Lycosa psuedoannulata ( Bosenberg & Strand ) เป็นแมงมุมในอันดับ Araneae วงค์ Lycosidae เป็นตัวห้ำที่มีบทบาทมากที่สุดในการควบคุมปริมาณตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในนาข้าว เนื่องจากสามารถเคลื่อนย้ายไปมาในพื้นที่ต่างๆในนา โดยจะเคลื่อนย้ายเข้าในนาระยะหลังหว่านข้าวและจะเพิ่มปริมาณสูงในระยะข้าวแตกกอ
การป้องกันกำจัด
1. ใช้พันธุ์ข้าวต้านทาน ได้แก่ สุพรรณบุรี 1 ,สุพรรณบุรี 2, สุพรรณบุรี 90 , ชัยนาท 1, กข 23, 2. การเขตกรรม เช่น มีการระบายน้ำออกจากแปลงนา 7-10 วัน ในช่วงใกล้เก็บเกี่ยว และเมล็ดข้าวเริ่มแข็งแล้ว3. อนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล4. ใช้สารเคมี ควรใช้เมื่อพบปริมาณเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล มากกว่า 10 ตัวต่อข้าว 1 กอ เช่น คาร์แทบ+ไอโซโปรคาร์บ 6%G 5 กิโลกรัมต่อไร่ อิมิดาโคลพริด 65% EC. อัตรา 60 ซีซีต่อไร่ บูโพรเฟซิน+ไอโซโปรคาร์บ 25% WP. อัตรา 100 กรัมต่อไร่

สารเคมีที่ใช้ควบคุม
คาร์แทป+ไอโซโพรคาร์บ 5 กิโลกรัม/ไร่
อิมิดาโคลพริด 15-30 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร
บูโพรเฟซิน+ไอโซโปร์คาร์บ 50 กรัม/น้ำ 20 ลิตร
ไอโซโปร์คาร์ 60กรัม/น้ำ 20 ลิตร
บูโพรเฟซิน 20-30 กรัม/น้ำ 20 ลิตร
อีทิโพรล 40 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร
ประเด็นคำถามเพื่อนำไปสู่การอภิปรายในห้องเรียน
 1. อธิบายการปลูกและการดูแลรักษาข้าว
 2. อธิบายวิธีการกำจัดแมลงศัตรูของข้าวชนิดอื่น
กิจกรรมเสนอแนะ
 ให้ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับการปลูกข้าวชนิดหรือพืชอื่น  แล้วจัดทำเป็นรายงานส่ง
การบูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น
 สามารถบูรณาการกับกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ กลุ่มสาระสังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม

การเพาะเห็ดฟางในตะกร้า

การเพาะเห็ดฟาง มีหลายวิธี การเพาะเห็ดฟางในตะกร้า เป็นอีกวิธีหนึ่งที่กำลังเป็นที่สนใจ เนื่องด้วย

  • สามารถเพาะในพื้นที่ซ้ำเดิมได้ โดยปกติต้องเปลี่ยนสถานที่เพาะเนื่องจากปัญหาการสะสมของโรค แมลง
  • วัสดุเพาะไม่สัมผัสพื้นดิน ลดปัญหาในเรื่องของเชื้อโรคที่มาจากพื้นดิน
  • ต้นทุนในการผลิตต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับการเพาะแบบโรงเรือนปกติ

วัสดุและอุปกรณ์ในการเพาะเห็ดฟางในตะกร้า

วัสดุเพาะ
  • หัวเชื้อเห็ดฟาง อายุ 7 วัน (สังเกตจากมีเส้นใยสีขาวขึ้นบนก้อนเชื้อ)
  • ก้อนเชื้อเห็ดเก่า
  • ฟางข้าว
  • ต้นกล้วย
  • ชานอ้อย
  • อาหารเสริม เช่น ผักตบชวา มูลวัว ไส้นุ่น รำละเอียด
  • อาหารกระตุ้นหัวเชื้อ ได้แก่ แป้งสาลี หรือแป้งข้าวเหนียว
  • น้ำสะอาดชล
วัสดุเพาะ
  • ตะกร้าเพาะเห็ดฟาง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 18 นิ้ว สูง 11 นิ้ว มีช่องขนาด 1 ตารางนิ้ว ด้านล่างเจาะรูทำช่องระบายน้ำ
  • พลาสติกคลุม
  • สุ่มไก่ หรือวัสดุอื่นๆ สำหรับทำเป็นโครง

วิธีการเพาะเห็ดฟางในตะกร้า

  1. ชั้นที่ 1 เริ่มที่นำเชื้อเห็ดฟาง ขนาด 1 ปอนด์ แกะใส่ภาชนะ และฉีกหัวเชื้อเป็นชิ้นเล็ก แล้วโรยแป้งสาลี หรือแป้งข้าวเหนียว แบ่งหัวเชื้อเห็ดออกเป็น 6 ส่วนเท่า ๆ กัน (หัวเชื้อ 1 ถุง ทำได้ 2 ตะกร้า) จากนั้นนำวัสดุเพาะ (ฟางข้าว) มารองก้นตะกร้าให้มีความสูงประมาณ 2-3 นิ้ว (กดให้แน่น ๆ) หรือสูงถึง 2 ช่องล่างของตะกร้า แล้วโรยอาหารเสริม (ผักตบชวา) ให้ชิดขอบตะกร้า หนาประมาณ 1 นิ้ว หรือสูงประมาณ 1 ช่องตะกร้า และนำเชื้อเห็ดฟางที่เตรียมไว้ 1 ส่วน วางรอบตะกร้าให้ชิดขอบตะกร้าเป็นจุด ๆ
  2. ชั้นที่ 2 ให้ทำแบบเดิม ในส่วนชั้นที่ 3 ให้ทำเหมือนชั้นที่ 1 และ ชั้นที่ 2 แต่เพิ่มการโรยอาหารเสริมให้เต็มพื้นที่ด้านบนให้หนา 1 นิ้ว แล้ว โรยเชื้อเห็ดฟางให้เต็มที่ โดยกระจายเป็นจุด ๆ ด้านบนตะกร้า โดยให้มีระยะห่างเท่า ๆ กัน จากนั้นโรยวัสดุเพาะ อาทิ ฟางข้าว ด้านบนอีกครั้ง หนาประมาณ 1 นิ้ว รดน้ำให้ชุ่ม

การดูแลรักษาการเพาะเห็ดฟางในตะกร้า

นำตะกร้าเพาะไปวางบนพื้นโรงเรือน หรือชั้นโครงเหล็กที่เตรียมไว้ หรือจะยกพื้นวางอิฐบล็อก หรือไม้ท่อนก็ได้ เตรียมสุ่ม 1 สุ่ม สำหรับตะกร้า 4 ใบ โดยตะกร้า 3 ใบวางด้านล่างชิดกัน และวางด้านบนอีก 1 ใบ ให้ตะกร้าห่างจากสุ่มไก่ประมาณ 1 คืบ จากนั้นนำพลาสติกมาคลุมสุ่มไก่จากด้านบนถึงพื้น แล้วนำอิฐ หรือไม้ทับขอบพลาสติก เพื่อไม่ให้พลาสติกเปิดออก
ช่วงวันที่ 1 ถึงวันที่ 4 หลังเพาะ ในช่วงฤดูร้อนถึงฤดูฝน และวันที่ 1 ถึง 7 วันแรกในช่วงฤดูหนาว ต้องมีการควบคุมอุณหภูมิ ในกระโจม หรือโรงเรือน ให้อยู่ในช่วงระหว่าง 37-40 องศาเซลเซียส เฉลี่ยประมาณ 38 องศาเซลเซียส ในระหว่างวันที่ 5 ถึง 8 ต้องควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนให้อยู่ระหว่าง 28-32 องศาเซลเซียส เพราะในระหว่างวันที่ 5-7 จะมีการรวมตัวกันของเส้นใย เป็นดอกเล็ก ๆ จำนวนมาก ระหว่างนี้ห้ามเปิดพลาสติก หรือโรงเรือนบ่อย เพราะจะทำให้ดอกเห็ดฝ่อ
ประมาณวันที่ 7-8 ในฤดูร้อน หรือวันที่ 9-10 ในฤดูหนาว เห็ดฟางจะเริ่มให้ดอกขนาดโต จึงจะเก็บเกี่ยวได้ โดยการเก็บควรทำตอนเช้ามืด เพื่อดอกเห็ดจะได้ไม่บาน ดอกเห็ดที่เก็บควรมีลักษณะเป็นรูปไข่ ปลอกยังไม่แตก ดอกยังไม่บาน ถ้าปล่อยให้ปลอกแตก และดอกบานแล้วค่อยเก็บ จะขายได้ราคาต่ำ การเก็บควรใช้มีดสะอาดตัดโคนเห็ด ถ้ามีดอกเห็ดขึ้นอยู่ติดกันหลายดอกควรเก็บขึ้นมาพร้อมกันทีเดียว ถ้าเก็บเฉพาะดอกเห็ดที่โตออกมาดอกที่เหลือจะไม่โต และฝ่อตายไป
ผลผลิตเห็ดฟางสามารถเก็บได้ 2-3 ครั้ง เก็บเห็ดได้เฉลี่ย 1 กิโลกรัมต่อตะกร้า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัสดุที่เพาะ การดูแลรักษา ฤดูกาล และวิธีการปฏิบัติ สำหรับต้นทุน และผลตอบแทน ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยครั้งที่ 1 60-80 บาท ต่อตะกร้า หากเป็นการเพาะครั้งที่ 2-6 ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยที่ 20-40 บาทต่อตะกร้า (ไม่มีค่าตะกร้า) ราคาขายผลผลิตเห็ดโดยเฉลี่ย 70 บาทต่อกิโลกรัม ผลกำไรเฉลี่ย 10-50 บาทต่อกิโลกรัม
ที่มา : http://www.vegetweb.com/การเพาะเห็ดฟางในตะกร้า/

ฟังเพลง

ยินดีต้อนรับเข้าสู่บล็อก

บล็อกนี้เป็นบล็อกส่วนตัวที่ใช้ในการเรียนการสอนในรายวิชา อินเตอร์เน็ตในชีวิตประจำวัน